top of page

หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ถูกออกแบบโดยแนวความคิด Outcome-based Education และเทคนิคการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับนักเรียนนักศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งเปลี่ยนจากการเน้นการป้อนเนื้อหาวิชาความรู้ให้นักเรียนนักศึกษาอย่างเดียว เป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ที่นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับการเรียนรู้มากขึ้น สถาบันฯ เห็นความสำคัญของการออกแบบหลักสูตรแบบเน้นการสร้างความมีส่วนร่วมของนักศึกษาในชั้นเรียนเป็นหลัก จึงมีหลักในการจัดการเรียนการสอน 3 อย่าง ได้แก่

1. The Will to Learn
การสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้

​​

ด้วยแนวคิดที่เชื่อว่าการเริ่มต้นการเรียนรู้ด้วยการเสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ และกระตุ้นความอยากเรียนรู้ของนักศึกษา  จะทำให้นักศึกษารู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ สนุกกับการเรียนรู้ และสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น โดยในแต่ละชั้นปีจะมีธีมหลักในการพัฒนานักศึกษา ได้แก่ ชั้นปีที่ 1จะเน้นการสร้างแรงบันดาลใจและการเปิดโลกทัศน์ (Intrinsic Motivation) ปีที่ 2 เน้นเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักศึกษา (Creative Thinking) ปีที่ 3 เน้นเสริมสร้างทักษะให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self-Directed Learning) และปีที่ 4 เน้นการปูทางสู่เส้นทางอาชีพและอนาคตของนักศึกษา (Identity development)

 

 

2. Integrative Learning
การบูรณาการการเรียนรู้

​​

เพื่อให้นักศึกษาเห็นความเชื่อมโยงของเนื้อหาและสามารถบูรณาการและประยุกต์ใช้ความรู้จากรายวิชาต่างๆ ข้ามสายวิศวกรรมสามสาขาหลัก ได้แก่ เครื่องกล ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ได้ สถาบันฯ จึงจัดการเรียนการสอนในรูปแบบโมดูล  โดยประกอบด้วย 10 โมดูลใน 8 ภาคการศึกษา ในแต่ละโมดูลจะประกอบไปด้วย 2-3 รายวิชาซึ่งได้รับการออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องกัน โดยนักศึกษาจะได้ฝึกทักษะและนำความรู้ที่เรียนในแต่ละวิชามาบูรณาการเพื่อไปประยุกต์ใช้จริงผ่านการทำโครงงานในโมดูลอย่างน้อย 1 โครงงานในแต่ละโมดูล

3. Learning by Doing
การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ

​​

หลักสูตรของทางสถาบันฯ จะเน้นการเพิ่มทักษะและความชำนาญของนักศึกษาจากการลงมือทำจริง (Hands-on Skills) และสนับสนุนทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed Learning) ของนักศึกษาผ่านการทำโครงงานต่างๆ (Project-based Learning) โดยมีอาจารย์มีหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำ ให้นักศึกษาได้ฝึกการทำงานเป็นทีมและเสริมทักษะในการสื่อสาร และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21

bottom of page